ยังคงเกาะติดประเด็นเขาพระวิหาร

ปราสาทเขาพระวิหาร - ประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม

ที่มา: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551

สืบเนื่องจากการที่ประเด็นเรื่องของ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง ในการโค่นล้มรัฐบาลของ นรม. สมัคร สุนทรเวช และ "ระบอบทักษิณ" เป็นปัญหาของการเมืองภายในของเรา แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาด้วย เรื่องนี้มีความสำคัญ และมีความจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจ ที่มาและที่ไปของเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางประวัติศาสตร์ และทางรัฐศาสตร์การเมือง ดังนั้น จึงขอบรรยายตามลำดับ ดังต่อไปนี้
(1) "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นส่วนหนึ่งของ "ประวัติศาสตร์แผลเก่า" ระหว่าง "ชาติไทย" กับ "ชาติกัมพูชา" ระหว่าง "ลัทธิชาตินิยมไทย" และ "ลัทธิชาตินิยมกัมพูชา" แม้จะเกิดมานานเกือบ 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นบาดแผลที่ไม่หายสนิท จะปะทุพุพองขึ้นมาอีก และถูกนำมาใช้ทางการเมื่อไรก็ได้
(2) "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม "บรรพชนของขะแมร์กัมพูชา (ขอม) แต่โบราณ" ที่อาศัยอยู่ทั้งในกัมพูชาปัจจุบัน และในภาคอีสานของเรา ขะแมร์กัมพูชา เป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้าง "ปราสาท" ด้วยหินทรายและศิลาแลง ต่างกับชนชาติไทย ลาว มอญ พม่าที่สร้าง "ปราสาท" ด้วยอิฐและไม้
(3) "ปราสาทเขาพระวิหาร" น่าจะถูกทิ้งปล่อยให้ร้างไปเมื่อหลังปี พ.ศ.1974 คือภายหลังที่กรุงศรียโสธรปุระ (นครวัดนครธม) ของกัมพูชา "เสียกรุง" ให้แก่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยของพระเจ้าสามพระยา) ขะแมร์กัมพูชา ต้องหนีย้ายเมืองหลวงไปอยู่ละแวก อุดงมีชัย และพนมเปญ ตามลำดับทั้งกัมพูชาและสยามประเทศ (ไทย) คงลืมและทิ้งร้าง "ปราสาทเขาพระวิหาร" ไปประมาณเกือบ 500 ปี จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามาล่าเมืองขึ้นในอุษาคเนย์ ได้ทั้งเวียดนาม ทั้งลาว และกัมพูชา ไปเป็น "อาณานิคม" ของตน และก็พยายามเขมือบดินแดนของ "สยาม" สมัย ร.ศ.112 ถึงขนาดใช้กำลังทหารเข้ายึดเมืองจันทบุรี เมืองตราด และเมืองด่านซ้าย (ในจังหวัดเลย) ไว้เป็นเครื่องต่อรองอยู่ 10 กว่าปี
(4) จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2450 ที่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปเป็นครั้งที่ 2 จึงได้ทรงลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนยกดินแดนเสียมเรียบ (อันเป็นที่ตั้งของนครวัดนครธมหรือกรุงศรียโสธรปุระ) กับพระตะบอง และศรีโสภณ ให้กับฝรั่งเศส ทั้งนี้ โดยการแลก "จันทบุรี ตราด และด่านซ้าย (เลย)" กลับคืนมา
กล่าวโดยย่อในสมัยของรัชกาลที่ 5 ที่มีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นเสนาบดีมหาดไทยนั้น ฝ่าย "รัฐบาลราชาธิปไตยสยาม" ได้ยอมรับเส้นเขตแดนที่ถือว่าปราสาทเขาพระวิหาร ขึ้นอยู่กับฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันโดยสันติ และที่สำคัญ อย่างยิ่งเพื่อเป็นหลักประกันในการรักษา "เอกราชและอธิปไตย" ส่วนใหญ่ของสยามประเทศเอาไว้
(5) กาลเวลาล่วงไปจนถึงสมัยสิ้นสุดระบอบ "ราชาธิปไตย" ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เรื่องของ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเป็นประเด็นคุกรุ่นทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง คือครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และครั้งที่สอง สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคสงครามเย็นในครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้น สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเมื่อ "คณะราษฎร" ยึดอำนาจได้แล้ว แม้จะโดยปราศจากความรุนแรง และนองเลือดในปีแรกก็ตาม แต่ก็ประสบปัญหาในการบริหารปกครองประเทศอย่างมาก เพราะเพียง 1 ปีต่อมาก็เกิด "กบฏบวรเดช" พ.ศ. 2476 เกิดการนองเลือดเป็น "สงครามกลางเมือง" และส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ถึงกับสละราชสมบัติในปี พ.ศ.2477 และประทับอยู่ที่อังกฤษจนสิ้นพระชนม์ ในท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองนั้น รัฐบาลพิบูลสงคราม หันไปพึ่ง "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" ปลุกระดมวาทกรรม "การเสียดินแดน 13 ครั้ง" ให้เกิดความ "รักชาติ" ด้วยมาตรการต่างๆ อาทิเช่น 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลเปลี่ยนนามประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย"
รัฐบาลปลุกระดมเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส ในเดือนตุลาคม 2483 ผลักดันให้นิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาฯ และ มธก. เดินขบวนเรียกร้องดินแดน "มณฑลบูรพา" และ "ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง"จนในที่สุด ก็เกิดสงครามชายแดน รัฐบาลส่ง "กองกำลังบูรพา" ไปรบกับฝรั่งเศส ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่น "มหามิตรใหม่" เข้ามาไกล่เกลี่ยบีบให้ฝรั่งเศส จำต้องยอมยกดินแดนให้ "ไทย" สมัยพิบูลสงคราม

และนี่ก็เป็นที่มาที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ดินแดนทั้งเสียมเรียบ (ที่ถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ ว่า จังหวัดพิบูลสงคราม) พระตะบอง ศรีโสภณ จำปาศักดิ์ (ซึ่งรวมทั้งที่อยู่ในลาว และอยู่ในบริเวณพนมดงรัก อาทิเช่น ปราสาทเขาพระวิหาร และเมืองจอมกระสาน) ตลอดจนถึงไซยะบูลี
และก็ในตอนนี้นั่นแหละที่ทั้งปราสาทและเขาพระวิหาร กลับมาสู่ความสนใจและความรับรู้ของคนไทย รัฐบาลพิบูลสงคราม ดำเนินการให้กรมศิลปากรได้จัดการขึ้นทะเบียนให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานของไทย โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2483
(6) สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วย "มหามิตรญี่ปุ่น" ปราชัยอย่างย่อยยับ รัฐบาลพิบูลสงครามก็ล้ม ซึ่งก็หมายถึงว่า "ไทย" จะต้องถูกปรับเป็นประเทศแพ้สงครามด้วย ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษที่เสียทั้งดินแดนและผลประโยชน์ให้กับไทย ก็ต้องการ "ปรับ" และเอาคืน
โชคดีของสยามประเทศ (ไทย) ที่มีทั้งมหาอำนาจใหม่ คือ สหรัฐสนับสนุน และมีทั้ง "ขบวนการเสรีไทย" ภายใต้การนำของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ที่กู้สถานการณ์เจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้การประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และการเข้าร่วมกับญี่ปุ่น กลายเป็นโมฆะหรือ "เจ๊า" กับ "เสมอตัว" ไม่ต้องถูกปรับมากมาย หรือถูกยึดเป็นเมืองขึ้นอย่างญี่ปุ่นหรือเยอรมนี แต่รัฐบาลใหม่ของไทยที่เป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (ค่ายปรีดี พนมยงค์) ก็ต้องคืนดินแดนที่ไปยึดครองมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศสที่กล่าวข้างต้น แต่ยังรวมถึงเมืองขึ้นของอังกฤษที่รัฐบาลพิบูลสงคราม ยึดครอง และรับมอบมา อาทิเช่น เมืองเชียงตุง เมืองพานในพม่า หรือ 4 รัฐมลายู (กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และเคดะห์)
แต่ก็ในตอนนี้อีกนั่นแหละที่ระเบิดเวลา "ปราสาทเขาพระวิหาร" ถูกวางไว้อย่างเงียบๆ กล่าวคือ ตัวปราสาทหาได้ถูกคืนไปไม่ และต่อมารัฐบาลอำมาตยาเสนาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งคืนชีพมาด้วยการรัฐประหาร พ.ศ.2490) ได้ส่งกองทหารไทยให้กลับขึ้นไปตั้งมั่นและชักธงไตรรงค์อยู่บนนั้นอีกครั้งในปี พ.ศ.2497
(7) ระเบิดเวลาลูกนี้ระเบิดขึ้น เมื่อกัมพูชาได้เอกราชในปี พ.ศ.2496 อีก 6 ปีต่อมา พระเจ้านโรดมสีหนุ ซึ่งทรงเป็นทั้ง "กษัตริย์และพระบิดาแห่งเอกราช" และ "นักราชาชาตินิยม" ของกัมพูชา ก็ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลโลก (International Court of Justice) เมื่อ 6 ตุลาคม 2502
รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่งตั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นทนายสู้ความ รัฐบาลสฤษดิ์ ปลุกระดมให้ประชาชน "รักชาติ" บริจาคเงินคนละ 1 บาทเพื่อสู้คดี ตอนนั้นทองคำหนัก 1 บาท ราคาเท่ากับ 500 บาท (ตอนนี้ 1.4 หมื่นบาท)
ศาลโลกที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ใช้เวลา 3 ปี และลงมติเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 ตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ให้ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ตกเป็นของกัมพูชา และให้รัฐบาลไทยถอนทหาร ตำรวจ ยาม และเจ้าหน้าที่ออกนอกบริเวณ ว่าไปแล้ว รัฐบาลไทยแพ้คดีนี้อย่างค่อนข้างราบคาบ และคำพิพากษาของศาล ก็ยึดจากสนธิสัญญา และแผนที่ที่ทำขึ้นหลายครั้งในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 นั่นเอง แผนที่และสัญญาเหล่านั้นขีดเส้นให้ตัวปราสาทเขาพระวิหาร อยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส หาได้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์หรือสันปันน้ำ หรือทางขึ้นไม่
(8) กล่าวโดยย่อ ปราสาทเขาพระวิหาร ตกเป็นของกัมพูชาทั้งจากทางด้านประวัติศาสตร์ ทางด้านนิติศาสตร์ ข้ออ้างของฝ่ายไทยเราทางด้านภูมิศาสตร์ คือ ทางขึ้นหรือสันปันน้ำนั้นหาได้รับการรับรองจากศาลโลกไม่ แต่คดีปราสาทเขาพระวิหาร ก็มีผลกระทบอย่างประเมินมิได้ต่อจิตวิทยาของคนไทย ที่ถูกปลุกระดมด้วยวาทกรรมของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน"
(9) สรุป เราจะเห็นได้ว่า วาทกรรมของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน" นั้น ถูกสร้าง ถูกปลุกระดม ถูกผลิตซ้ำมาเป็นระยะเวลา 3-4 ชั่วอายุคน ฝังรากลึกมาก ดังนั้น ประเด็นนี้จึงกลายเป็น "ร้อนแรง-ดุเดือด-เลือดพล่าน" จุดปุ๊บติดปั๊บขึ้นมาทันที "5 พันธมิตร" ดูจะได้อาวุธใหม่และพรรคพวกเพิ่มในอันที่จะรุกรบให้แพ้ชนะกันให้เด็ดขาด นำเอาเวอร์ชั่นของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" มาคลุกผสมกับ "ราชาชาตินิยม" ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในขณะที่รัฐบาลสมัครก็ดูจะขาดความสุขุมรอบคอบ และความละเอียดอ่อนทางการทูตในการบริหารจัดการ กับปัญหากรณีเกี่ยวกับเรื่องปราสาทและเขาพระวิหาร
ดังนั้น ในเมื่อเขาพระวิหารได้ถูกทำให้กลายเป็นการเมืองร้อนแรงเพื่อโค่นล้มรัฐบาล คำถามของเราในที่นี้ คือ
ในแง่ของการเมืองภายใน
-รัฐบาลสมัครจะล้มหรือไม่ -รัฐบาลจะยุบสภาหรือไม่ -พันธมิตรจะรุกต่อหรือต้องถอย -จะเกิดการนองเลือดหรือไม่ -ทหารจะปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจอีกหรือไม่ หรือจะ "เกี้ยเซี้ย" รักสามัคคี สมานฉันท์ แตกต่าง หลากสีกันได้ ไม่มีเพียงแค่สีเหลือง กับสีแดง
คนไทยได้ผ่านเหตุการณ์ทั้งที่วิปโยค และปลื้มปีติกันมาแล้วเป็นเวลากว่า 70 ปี ทั้งการปฏิวัติ 2475 ทั้งกบฏบวรเดช 2476 ทั้งรัฐประหาร 2490
ทั้งปฏิวัติ 2500-2501 ทั้งการลุกฮือ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งการรัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ทั้งพฤษภาเลือด 2535 และท้ายสุด รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ประสบการณ์และเหตุการณ์ดังกล่าว พอจะเป็นตัวอย่างเป็นบทเรียนได้หรือไม่ หรือจะต้องรอให้สึนามิทางการเมืองถล่มทับสยามประเทศ (ไทย) ของเราให้ย่อยยับลงไป
ในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ
เรื่องของเขาและปราสาทพระวิหารจะบานปลายไปเป็นการเมืองระหว่างไทยและกัมพูชาหรือไม่ รุนแรงจนขั้นแบบเผาสถานทูตหรือไม่ จะมีการปิดการค้าชายแดนหรือไม่ จะกลายเป็นประเด็นสาดโคลนการเมือง ภายในของกัมพูชา (ที่จะมีการเลือกตั้ง 27 กรกฎาคมนี้) หรือไม่ หรือว่าทั้งไทยกับกัมพูชา จะตระหนักว่าต้องอยู่ร่วมกันโดยสันติ ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านพรมแดนยาว 800 กิโลเมตร เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกันจะตกลงเสนอทั้งปราสาทและทั้งเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกร่วมกันบริหารจัดการ และ (เอี่ยว) แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อความสมานฉันท์ เพื่อคนไทย คนกัมพูชา คนลาว คนกูย คนขะแมร์อีสานใต้ คนกำหมุ คนแต้จิ๋ว คนไหหลำ คนฮกเกี้ยน คนกวางตุ้ง คนปาทาน ฯลฯ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นประชากรอันหลากหลายของรัฐชาติบนผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์นี้
คำตอบไม่น่าจะอยู่ในสายลม มิใช่หรือ