พลวัต update เตรียมสอบ ผอ.สถานศึกษา

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เผยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๑ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ เห็นชอบมาตรการในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา พร้อมทั้งอนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตลอดจนรับทราบการช่วยเหลือดูแลนักเรียนที่ด้อยโอกาสและยากลำบาก
เห็นชอบมาตรการในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
รมว.ศธ.กล่าวว่า ครม.ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เสนอเกี่ยวกับมาตรการในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ทั้งมาตรการเร่งด่วนและระยะยาว ดังนี้
มาตรการระยะเร่งด่วน (ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๔)
ขอคืนอัตราเกษียณร้อยละ ๑๐๐ พร้อมวงเงินจากอัตราเกษียณให้แก่ ศธ.มากกว่าหน่วยงานอื่น ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๑ เป็นต้นไปจนถึงปี ๒๕๕๔ แยกเป็นรายปี คือ
- ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๒๙,๕๕๓ อัตรา (แยกเป็นปี ๒๕๕๑ จำนวน ๕,๑๙๒ อัตรา ปี ๒๕๕๒ จำนวน๖,๕๕๘ อัตรา ปี ๒๕๕๓ จำนวน ๗,๖๘๘ อัตรา และปี ๒๕๕๔ จำนวน ๑๐,๑๑๕ อัตรา)
- ระดับอาชีวศึกษา ๑,๐๒๖ อัตรา (แยกเป็นปี ๒๕๕๑ จำนวน ๑๗๕ อัตรา ปี ๒๕๕๒ จำนวน ๒๓๔ อัตรา ปี ๒๕๕๓ จำนวน ๒๘๘ อัตรา และปี ๒๕๕๔ จำนวน ๓๒๙ อัตรา)
สำหรับการขาดแคลนบุคลากรสายสนับสนุน ขอให้จัดสรรเพิ่มตามความจำเป็นและตามกำลังงบประมาณของประเทศ
ควรพิจารณาปรับเกณฑ์การกำหนดอัตราครูใหม่ โดยแยกเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มครูผู้สอน กลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา และกลุ่มสนับสนุนการสอน รวมทั้งนำภาระงานสอนของครูที่คำนวณเป็นชั่วโมงต่อสัปดาห์มากำหนดอัตรากำลัง ซึ่งกำหนดให้ครูปฏิบัติงานประมาณ ๓๐ ชั่วโมง/สัปดาห์ (งานสอน ๑๙ ชั่วโมง ปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับงานสอน ๑๐ ชั่วโมง และอื่นๆ ๒ ชั่วโมง) นอกจากนี้ยังคิดกลุ่มการเรียนเป็นรายชั้นในระดับมัธยมศึกษา เนื่องจากต้องใช้ครูที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะสาขามากขึ้น
ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีความพร้อมให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษา และโอนสถานศึกษาไปให้ อปท.ที่ผ่านการประเมินความพร้อม
เร่งแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีโรงเรือนให้แก่สถานศึกษาเอกชน รวมทั้งออกประกาศกระทรวงเพื่อให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ครอบคลุมถึงสถานศึกษาเอกชนด้วย
มาตรการระยะยาว
วางแผนผลิตและพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ ให้สอดคล้องกับสภาพการใช้และความต้องการครูฯ อย่างแท้จริง โดยพิจารณาจากแนวโน้มประชากรวัยเรียน และความต้องการทางการศึกษาในอนาคต รวมทั้งจัดตั้งสถาบันเพื่อความเป็นเลิศในการผลิตและพัฒนาครู โดยอาจใช้ชื่อว่า สถาบันกัลยาณิวัฒนา เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ
จัดทำแผนงานโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู โดยคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ลงทุนสร้างคณาจารย์รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและปริมาณให้เพียงพอกับความต้องการในการพัฒนาการศึกษา
ทบทวนนโยบายการจำกัดกำลังคนภาครัฐ กรณีเกษียณอายุราชการของครู
ให้มีการศึกษาหาแนวทางขยายเวลาเกษียณอายุราชการ ของข้าราชการครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจาก ๖๐ ปีเป็น ๖๕ ปี และคณาจารย์ในระดับอุดมศึกษาจาก ๖๕ ปีเป็น ๗๐ ปี โดยเฉพาะสาขาที่ขาดแคลน
ส่งเสริมสนับสนุนสถานประกอบการ องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันสังคมอื่นๆ ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๑๒ ให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษามากขึ้น โดยรัฐมีมาตรการจูงใจ
เพิ่มสัดส่วนการจัดการศึกษาของเอกชนให้มากขึ้น โดยกำหนดสัดส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนในปี ๒๕๕๔ เป็น ๗๐ : ๓๐
กระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา/สถานศึกษามากขึ้น ทั้งด้านการบริหารงานบุคคล งบประมาณ วิชาการ และบริหารงานทั่วไป ตามความพร้อม
นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น เช่นการเรียนโดยระบบ e-learning การจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อเทคโนโลยีที่หลากหลาย เร่งจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อทำหน้าที่เสนอนโยบาย แผน ส่งเสริม ประสานการวิจัย การพัฒนา การใช้ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเทคโนโลยี อันจะส่งผลให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษาได้เพิ่มมากขึ้น
อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา พ.ศ. ....
ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ตามที่ ศธ.เสนอดังนี้
จากการที่ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๑ เห็นชอบกรอบแผนพัฒนาอุดมศึกษาระยะยาว ๑๕ ปี ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๑ – ๒๕๖๕) และให้ ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้กรอบแผนพัฒนาอุดมศึกษาระยะยาวในการดำเนินงาน
ซึ่งตามกรอบแผนพัฒนาอุดมศึกษาระยะยาวดังกล่าวได้กำหนดแนวทางการพัฒนาธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการอุดมศึกษา โดยเสนอให้มีการปรับโครงสร้างของคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้เป็นคณะมนตรี และมีมนตรีหรือกรรมาธิการทำงานเต็มเวลา และมีสำนักงานคณะกรรมาธิการที่มีโครงสร้างที่เอื้อต่อการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมาธิการ โดยให้รวมภารกิจของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ให้เป็นระบบเดียวกัน
ศธ.ได้พิจารณากรอบแผนพัฒนาอุดมศึกษาระยะยาวดังกล่าวแล้ว เห็นว่าสมควรที่จะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ เสียใหม่ให้สอดคล้องกับกรอบแผนพัฒนาอุดมศึกษาระยะยาว ๑๕ ปี จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงมีดังนี้
ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๔๖
กำหนดคำนิยาม กรรมการ คณะกรรมการสรรหา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรวิชาชีพ องค์กรเอกชน
กำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา
กำหนดจำนวนกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา
กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการและกรรมการ
กำหนดวิธีการได้มา และการดำเนินการสรรหา ประธานกรรมการและกรรมการ
กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระของประธานกรรมการและกรรมการ
รับทราบการช่วยเหลือดูแลนักเรียนที่ด้อยโอกาสและยากลำบาก
ครม.รับทราบเรื่อง การช่วยเหลือดูแลนักเรียนที่ด้อยโอกาสและยากลำบาก ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้รายงานเสนอ ดังนี้
ด้วยความห่วงใยในคุณภาพชีวิตของเด็กและนักเรียนที่อยู่ในวัยเรียน ศธ.ได้มอบหมายให้โรงเรียนในสังกัดจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วยการจัดให้มีครูทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาติดตามดูแลนักเรียนเป็นรายคน มีการเยี่ยมบ้านนักเรียนเพื่อให้ทราบถึงสภาพปัญหาความเป็นอยู่ จัดเครือข่ายผู้ปกครองเพื่อร่วมมือกันดูแล ป้องกัน และแก้ปัญหา ตลอดจนจัดกิจกรรมที่จะดูแลนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ จากการดำเนินงานดังกล่าวทำให้ทราบว่ามีนักเรียนจำนวนหนึ่งอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก เช่น เจ็บป่วย พิการ หรืออยู่กับผู้ปกครองที่เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือพิการ ไม่สามารถดูแลบุตรหลานได้ หรือนักเรียนต้องอยู่ตามลำพัง ไม่มีผู้ใหญ่ดูแลหรืออยู่ในบ้านพักที่พฤติการณ์ไม่ปลอดภัยเสี่ยงต่อการถูกละเมิด เป็นต้น
ศธ.เห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีทราบถึงสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนในวัยเรียนที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในการช่วยเหลือดูแลตามความชำนาญและกำลังความสามารถ คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการนำเสนอคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ เพื่อขอความเห็นชอบที่จะให้ใช้เงินกองทุนคุ้มครองเด็กในการแก้ปัญหาให้แก่เด็กและเยาวชนที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก กระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความอนุเคราะห์จากผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยเหลือดูแลนักเรียนที่อยู่ในสภาวะยากลำบากตามสภาพความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอความช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลและดูแลนักเรียนและผู้ปกครองที่เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือพิการ และกระทรวงคมนาคม เพื่อร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้นในกรณีที่นักเรียนต้องเดินทางไกลเพื่อมาโรงเรียน
แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ ๑๑ จำนวน ๓ ราย
ครม.อนุมัติตามที่ ศธ.เสนอให้แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งระดับ ๑๑ จำนวน ๓ ราย ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ เพื่อทดแทนตำแหน่งผู้เกษียณอายุราชการ ดังนี้
ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ๑๐) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง (นักบริหาร ๑๑) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ
นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงประจำเขตตรวจราชการที่ ๑๕ และ ๑๖ (ผู้ตรวจราชการ ๑๐) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (นักบริหาร ๑๑) กระทรวงศึกษาธิการ
รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ๑๐) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา (นักบริหาร ๑๑) กระทรวงศึกษาธิการ (ซึ่งรัฐมนตรีเจ้าสังกัดทั้ง ๒ ฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว)
อนึ่ง สำนักราชเลขาธิการจะนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการ ทั้ง ๓ รายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งเดิม และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็นต้นไป.
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี http://www.moe.go.th/websm/news_aug08/news_aug239.html

ยังคงเกาะติดประเด็นเขาพระวิหาร

ปราสาทเขาพระวิหาร - ประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม

ที่มา: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551

สืบเนื่องจากการที่ประเด็นเรื่องของ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง ในการโค่นล้มรัฐบาลของ นรม. สมัคร สุนทรเวช และ "ระบอบทักษิณ" เป็นปัญหาของการเมืองภายในของเรา แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาด้วย เรื่องนี้มีความสำคัญ และมีความจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจ ที่มาและที่ไปของเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางประวัติศาสตร์ และทางรัฐศาสตร์การเมือง ดังนั้น จึงขอบรรยายตามลำดับ ดังต่อไปนี้
(1) "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นส่วนหนึ่งของ "ประวัติศาสตร์แผลเก่า" ระหว่าง "ชาติไทย" กับ "ชาติกัมพูชา" ระหว่าง "ลัทธิชาตินิยมไทย" และ "ลัทธิชาตินิยมกัมพูชา" แม้จะเกิดมานานเกือบ 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นบาดแผลที่ไม่หายสนิท จะปะทุพุพองขึ้นมาอีก และถูกนำมาใช้ทางการเมื่อไรก็ได้
(2) "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม "บรรพชนของขะแมร์กัมพูชา (ขอม) แต่โบราณ" ที่อาศัยอยู่ทั้งในกัมพูชาปัจจุบัน และในภาคอีสานของเรา ขะแมร์กัมพูชา เป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้าง "ปราสาท" ด้วยหินทรายและศิลาแลง ต่างกับชนชาติไทย ลาว มอญ พม่าที่สร้าง "ปราสาท" ด้วยอิฐและไม้
(3) "ปราสาทเขาพระวิหาร" น่าจะถูกทิ้งปล่อยให้ร้างไปเมื่อหลังปี พ.ศ.1974 คือภายหลังที่กรุงศรียโสธรปุระ (นครวัดนครธม) ของกัมพูชา "เสียกรุง" ให้แก่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยของพระเจ้าสามพระยา) ขะแมร์กัมพูชา ต้องหนีย้ายเมืองหลวงไปอยู่ละแวก อุดงมีชัย และพนมเปญ ตามลำดับทั้งกัมพูชาและสยามประเทศ (ไทย) คงลืมและทิ้งร้าง "ปราสาทเขาพระวิหาร" ไปประมาณเกือบ 500 ปี จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามาล่าเมืองขึ้นในอุษาคเนย์ ได้ทั้งเวียดนาม ทั้งลาว และกัมพูชา ไปเป็น "อาณานิคม" ของตน และก็พยายามเขมือบดินแดนของ "สยาม" สมัย ร.ศ.112 ถึงขนาดใช้กำลังทหารเข้ายึดเมืองจันทบุรี เมืองตราด และเมืองด่านซ้าย (ในจังหวัดเลย) ไว้เป็นเครื่องต่อรองอยู่ 10 กว่าปี
(4) จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2450 ที่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปเป็นครั้งที่ 2 จึงได้ทรงลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนยกดินแดนเสียมเรียบ (อันเป็นที่ตั้งของนครวัดนครธมหรือกรุงศรียโสธรปุระ) กับพระตะบอง และศรีโสภณ ให้กับฝรั่งเศส ทั้งนี้ โดยการแลก "จันทบุรี ตราด และด่านซ้าย (เลย)" กลับคืนมา
กล่าวโดยย่อในสมัยของรัชกาลที่ 5 ที่มีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นเสนาบดีมหาดไทยนั้น ฝ่าย "รัฐบาลราชาธิปไตยสยาม" ได้ยอมรับเส้นเขตแดนที่ถือว่าปราสาทเขาพระวิหาร ขึ้นอยู่กับฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันโดยสันติ และที่สำคัญ อย่างยิ่งเพื่อเป็นหลักประกันในการรักษา "เอกราชและอธิปไตย" ส่วนใหญ่ของสยามประเทศเอาไว้
(5) กาลเวลาล่วงไปจนถึงสมัยสิ้นสุดระบอบ "ราชาธิปไตย" ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เรื่องของ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเป็นประเด็นคุกรุ่นทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง คือครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และครั้งที่สอง สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคสงครามเย็นในครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้น สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเมื่อ "คณะราษฎร" ยึดอำนาจได้แล้ว แม้จะโดยปราศจากความรุนแรง และนองเลือดในปีแรกก็ตาม แต่ก็ประสบปัญหาในการบริหารปกครองประเทศอย่างมาก เพราะเพียง 1 ปีต่อมาก็เกิด "กบฏบวรเดช" พ.ศ. 2476 เกิดการนองเลือดเป็น "สงครามกลางเมือง" และส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ถึงกับสละราชสมบัติในปี พ.ศ.2477 และประทับอยู่ที่อังกฤษจนสิ้นพระชนม์ ในท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองนั้น รัฐบาลพิบูลสงคราม หันไปพึ่ง "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" ปลุกระดมวาทกรรม "การเสียดินแดน 13 ครั้ง" ให้เกิดความ "รักชาติ" ด้วยมาตรการต่างๆ อาทิเช่น 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลเปลี่ยนนามประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย"
รัฐบาลปลุกระดมเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส ในเดือนตุลาคม 2483 ผลักดันให้นิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาฯ และ มธก. เดินขบวนเรียกร้องดินแดน "มณฑลบูรพา" และ "ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง"จนในที่สุด ก็เกิดสงครามชายแดน รัฐบาลส่ง "กองกำลังบูรพา" ไปรบกับฝรั่งเศส ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่น "มหามิตรใหม่" เข้ามาไกล่เกลี่ยบีบให้ฝรั่งเศส จำต้องยอมยกดินแดนให้ "ไทย" สมัยพิบูลสงคราม

และนี่ก็เป็นที่มาที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ดินแดนทั้งเสียมเรียบ (ที่ถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ ว่า จังหวัดพิบูลสงคราม) พระตะบอง ศรีโสภณ จำปาศักดิ์ (ซึ่งรวมทั้งที่อยู่ในลาว และอยู่ในบริเวณพนมดงรัก อาทิเช่น ปราสาทเขาพระวิหาร และเมืองจอมกระสาน) ตลอดจนถึงไซยะบูลี
และก็ในตอนนี้นั่นแหละที่ทั้งปราสาทและเขาพระวิหาร กลับมาสู่ความสนใจและความรับรู้ของคนไทย รัฐบาลพิบูลสงคราม ดำเนินการให้กรมศิลปากรได้จัดการขึ้นทะเบียนให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานของไทย โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2483
(6) สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วย "มหามิตรญี่ปุ่น" ปราชัยอย่างย่อยยับ รัฐบาลพิบูลสงครามก็ล้ม ซึ่งก็หมายถึงว่า "ไทย" จะต้องถูกปรับเป็นประเทศแพ้สงครามด้วย ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษที่เสียทั้งดินแดนและผลประโยชน์ให้กับไทย ก็ต้องการ "ปรับ" และเอาคืน
โชคดีของสยามประเทศ (ไทย) ที่มีทั้งมหาอำนาจใหม่ คือ สหรัฐสนับสนุน และมีทั้ง "ขบวนการเสรีไทย" ภายใต้การนำของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ที่กู้สถานการณ์เจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้การประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และการเข้าร่วมกับญี่ปุ่น กลายเป็นโมฆะหรือ "เจ๊า" กับ "เสมอตัว" ไม่ต้องถูกปรับมากมาย หรือถูกยึดเป็นเมืองขึ้นอย่างญี่ปุ่นหรือเยอรมนี แต่รัฐบาลใหม่ของไทยที่เป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (ค่ายปรีดี พนมยงค์) ก็ต้องคืนดินแดนที่ไปยึดครองมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศสที่กล่าวข้างต้น แต่ยังรวมถึงเมืองขึ้นของอังกฤษที่รัฐบาลพิบูลสงคราม ยึดครอง และรับมอบมา อาทิเช่น เมืองเชียงตุง เมืองพานในพม่า หรือ 4 รัฐมลายู (กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และเคดะห์)
แต่ก็ในตอนนี้อีกนั่นแหละที่ระเบิดเวลา "ปราสาทเขาพระวิหาร" ถูกวางไว้อย่างเงียบๆ กล่าวคือ ตัวปราสาทหาได้ถูกคืนไปไม่ และต่อมารัฐบาลอำมาตยาเสนาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งคืนชีพมาด้วยการรัฐประหาร พ.ศ.2490) ได้ส่งกองทหารไทยให้กลับขึ้นไปตั้งมั่นและชักธงไตรรงค์อยู่บนนั้นอีกครั้งในปี พ.ศ.2497
(7) ระเบิดเวลาลูกนี้ระเบิดขึ้น เมื่อกัมพูชาได้เอกราชในปี พ.ศ.2496 อีก 6 ปีต่อมา พระเจ้านโรดมสีหนุ ซึ่งทรงเป็นทั้ง "กษัตริย์และพระบิดาแห่งเอกราช" และ "นักราชาชาตินิยม" ของกัมพูชา ก็ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลโลก (International Court of Justice) เมื่อ 6 ตุลาคม 2502
รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่งตั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นทนายสู้ความ รัฐบาลสฤษดิ์ ปลุกระดมให้ประชาชน "รักชาติ" บริจาคเงินคนละ 1 บาทเพื่อสู้คดี ตอนนั้นทองคำหนัก 1 บาท ราคาเท่ากับ 500 บาท (ตอนนี้ 1.4 หมื่นบาท)
ศาลโลกที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ใช้เวลา 3 ปี และลงมติเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 ตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ให้ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ตกเป็นของกัมพูชา และให้รัฐบาลไทยถอนทหาร ตำรวจ ยาม และเจ้าหน้าที่ออกนอกบริเวณ ว่าไปแล้ว รัฐบาลไทยแพ้คดีนี้อย่างค่อนข้างราบคาบ และคำพิพากษาของศาล ก็ยึดจากสนธิสัญญา และแผนที่ที่ทำขึ้นหลายครั้งในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 นั่นเอง แผนที่และสัญญาเหล่านั้นขีดเส้นให้ตัวปราสาทเขาพระวิหาร อยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส หาได้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์หรือสันปันน้ำ หรือทางขึ้นไม่
(8) กล่าวโดยย่อ ปราสาทเขาพระวิหาร ตกเป็นของกัมพูชาทั้งจากทางด้านประวัติศาสตร์ ทางด้านนิติศาสตร์ ข้ออ้างของฝ่ายไทยเราทางด้านภูมิศาสตร์ คือ ทางขึ้นหรือสันปันน้ำนั้นหาได้รับการรับรองจากศาลโลกไม่ แต่คดีปราสาทเขาพระวิหาร ก็มีผลกระทบอย่างประเมินมิได้ต่อจิตวิทยาของคนไทย ที่ถูกปลุกระดมด้วยวาทกรรมของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน"
(9) สรุป เราจะเห็นได้ว่า วาทกรรมของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน" นั้น ถูกสร้าง ถูกปลุกระดม ถูกผลิตซ้ำมาเป็นระยะเวลา 3-4 ชั่วอายุคน ฝังรากลึกมาก ดังนั้น ประเด็นนี้จึงกลายเป็น "ร้อนแรง-ดุเดือด-เลือดพล่าน" จุดปุ๊บติดปั๊บขึ้นมาทันที "5 พันธมิตร" ดูจะได้อาวุธใหม่และพรรคพวกเพิ่มในอันที่จะรุกรบให้แพ้ชนะกันให้เด็ดขาด นำเอาเวอร์ชั่นของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" มาคลุกผสมกับ "ราชาชาตินิยม" ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในขณะที่รัฐบาลสมัครก็ดูจะขาดความสุขุมรอบคอบ และความละเอียดอ่อนทางการทูตในการบริหารจัดการ กับปัญหากรณีเกี่ยวกับเรื่องปราสาทและเขาพระวิหาร
ดังนั้น ในเมื่อเขาพระวิหารได้ถูกทำให้กลายเป็นการเมืองร้อนแรงเพื่อโค่นล้มรัฐบาล คำถามของเราในที่นี้ คือ
ในแง่ของการเมืองภายใน
-รัฐบาลสมัครจะล้มหรือไม่ -รัฐบาลจะยุบสภาหรือไม่ -พันธมิตรจะรุกต่อหรือต้องถอย -จะเกิดการนองเลือดหรือไม่ -ทหารจะปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจอีกหรือไม่ หรือจะ "เกี้ยเซี้ย" รักสามัคคี สมานฉันท์ แตกต่าง หลากสีกันได้ ไม่มีเพียงแค่สีเหลือง กับสีแดง
คนไทยได้ผ่านเหตุการณ์ทั้งที่วิปโยค และปลื้มปีติกันมาแล้วเป็นเวลากว่า 70 ปี ทั้งการปฏิวัติ 2475 ทั้งกบฏบวรเดช 2476 ทั้งรัฐประหาร 2490
ทั้งปฏิวัติ 2500-2501 ทั้งการลุกฮือ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งการรัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ทั้งพฤษภาเลือด 2535 และท้ายสุด รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ประสบการณ์และเหตุการณ์ดังกล่าว พอจะเป็นตัวอย่างเป็นบทเรียนได้หรือไม่ หรือจะต้องรอให้สึนามิทางการเมืองถล่มทับสยามประเทศ (ไทย) ของเราให้ย่อยยับลงไป
ในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ
เรื่องของเขาและปราสาทพระวิหารจะบานปลายไปเป็นการเมืองระหว่างไทยและกัมพูชาหรือไม่ รุนแรงจนขั้นแบบเผาสถานทูตหรือไม่ จะมีการปิดการค้าชายแดนหรือไม่ จะกลายเป็นประเด็นสาดโคลนการเมือง ภายในของกัมพูชา (ที่จะมีการเลือกตั้ง 27 กรกฎาคมนี้) หรือไม่ หรือว่าทั้งไทยกับกัมพูชา จะตระหนักว่าต้องอยู่ร่วมกันโดยสันติ ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านพรมแดนยาว 800 กิโลเมตร เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกันจะตกลงเสนอทั้งปราสาทและทั้งเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกร่วมกันบริหารจัดการ และ (เอี่ยว) แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อความสมานฉันท์ เพื่อคนไทย คนกัมพูชา คนลาว คนกูย คนขะแมร์อีสานใต้ คนกำหมุ คนแต้จิ๋ว คนไหหลำ คนฮกเกี้ยน คนกวางตุ้ง คนปาทาน ฯลฯ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นประชากรอันหลากหลายของรัฐชาติบนผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์นี้
คำตอบไม่น่าจะอยู่ในสายลม มิใช่หรือ

สวัสดีค่ะ

ขอทักทายครั้งแรกด้วย เรื่องราวยอดนิยม ที่เป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจกันในขณะนี้ และยังไม่รู้เลยว่าผลลัพธ์ของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร พอดีผู้เขียนผ่านไปเห็นบทความเรื่องนี้เข้า เลยอยากให้ทุกคนได้อ่านกัน ขออนุญาต เจ้าของบทความและภาพประกอบเหล่านี้ที่นำมาเสนอ ไว้ ณ ที่นี้ และขอขอบคุณท่านเจ้าของบทความนี้ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ปราสาทเขาพระวิหาร หนึ่งในแดนปราสาทขอม
เรื่อง: รัชดา ธราภาค / ภาพ: ฝ่ายภาพสารคดี


แม้จังหวัดศรีสะเกษมีคำขวัญจังหวัดขึ้นต้นด้วยวลี “แดนปราสาทขอม” เพื่อแสดงจุดเด่นของจังหวัดว่ามีปราสาทขอมโบราณจำนวนหลายสิบแห่ง แต่ต้องยอมรับว่าปราสาทที่นักท่องเที่ยวอยากไปเยือนกันมากที่สุดคือ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ที่ตั้งเด่นบนแผ่นดินกัมพูชา ส่วนบันไดทางขึ้นอยู่ในเขตแดนไทย ด้าน อ. กันทรลักษ์
ช่วงเวลาที่ผ่านมา สถานการณ์การท่องเที่ยวของปราสาทเขาพระวิหารอายุเกือบพันปีแห่งนี้คือ เปิด ๆ ปิด ๆ อยู่ตลอดมา ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของไทยกับกัมพูชา ถ้าจะมองว่าไม่ส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวก็คงใช่ แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับยิ่งเพิ่มคุณค่าของโบราณสถาน ก็เพราะหาโอกาสเข้าชมได้ยากนี่เอง
ด้วยเหตุนี้กระแสข่าวเมื่อปลายปีว่าฝ่ายกัมพูชายอมเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วไปและประชาชนจากฝั่งไทย (อีกครั้ง) จึงเป็นข่าวดี ที่ทำให้ “ชาว กทม.” อย่างเรารีบจัดกระเป๋า มุ่งหน้าสู่ จ. ศรีสะเกษ แดนอีสาน ระยะทางร่วม ๖๐๐ กม. เพื่อเยี่ยมเยือนปราสาทเขาพระวิหารมรดกทางอารยธรรมสำคัญที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ทรงฝากผลงานไว้


อาบเมฆ ชมทะเลป่า ที่ผามออีแดง

โอ้เอ้เที่ยวชมปราสาทหินทั้งเล็กทั้งใหญ่อยู่ ๒ วัน ในที่สุดชาวคณะก็มาถึงเขต อ. กันทรลักษ์ในตอนเย็น เราตัดสินใจขับรถต่อไปอีกไม่ไกลเพื่อไปอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เราจะพักกันที่นั่น ทางอุทยานฯ เตรียมสถานที่ไว้ให้นักท่องเที่ยวกางเต็นท์สัมผัสธรรมชาติได้พร้อมกันทีเดียว ๒๐๐-๓๐๐ หลัง อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารกินพื้นที่ครอบคลุมทางเดินขึ้นปราสาทเขาพระวิหาร จึงสะดวกมากสำหรับผู้ที่พักค้างคืนในอุทยานฯ เพราะเมื่อตื่นเช้าสูดอากาศสดชื่นแล้ว ยังมีเวลาเที่ยวชมธรรมชาติในอุทยานฯ เป็นการวอร์มร่างกายก่อนไปชมปราสาทเขาพระวิหาร อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารมีเนื้อที่กว่า ๘ หมื่นไร่ ครอบคลุมพื้นที่ใน อ. กันทรลักษ์ จ. ศรีสะเกษ กับ กิ่งอำเภอน้ำขุ่น และ อ. น้ำยืน จ. อุบลราชธานี มีผามออีแดงเป็นจุดชมทัศนียภาพผืนป่าใหญ่ที่เชื่อมไทยกับกัมพูชาอย่างไร้รอยต่อ


นอกจากพืชพันธุ์และสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ (ยืนยันด้วยเสียงร้องของชะนีป่าที่ดังราวกับใช้ไมโครโฟน) ในเขตอุทยานฯ ยังมีภาพสลักนูนต่ำรูปนางอัปสรา เชื่อกันว่าช่างคงทำพิธีเซ่นไหว้ หรือไม่ก็อาจซ้อมมือก่อนเริ่มแกะสลักจริงที่เขาพระวิหาร ปัจจุบันทำรั้วกั้นไว้ นัยว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกเข้าไปขูดขัดขอเลขขอหวย ในบริเวณเดียวกันยังมีภาพสลักลายเส้นรูปพระนารายณ์อวตาร สันนิษฐานว่าอายุ ๑,๕๐๐ ปี ซึ่งน่าจะเก่าแก่ที่สุดในไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงบรรจุเป็นแหล่งท่องเที่ยว “อันซีน”
ถัดไปไม่ไกลเป็นสถูปคู่หินทราย คนย่านนั้นเรียก “พระธาตุ” รูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ยอดกลมมน ดูแล้วคล้ายหมุดปักบอร์ด ด้านในเป็นโพรงบรรจุสิ่งของซึ่งถูกขุดค้นไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ะยะแรก ๆ
ที่นักวิชาการชาวฝรั่งเศสมาสำรวจ ส่วน “สระตราว” หรือ “ห้วยตราว" คือทำนบโบราณ เป็นธารน้ำอยู่ในบริเวณลานหินเชิงเขาพระวิหาร ไหลลงสู่ที่ต่ำผ่านถ้ำใต้เพิงหินซึ่งเป็นที่ลุ่มกว้าง ตรงขอบมีแนวหินซ้อนเป็นเขื่อนเพื่อกั้นและบังคับน้ำให้ไหลไปตามแนวที่ต้องการ สันนิษฐานกันว่าตำแหน่งที่ลุ่มก็คือ “บาราย” ซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำของขอมนั่นเอง ล่าสุดทางกรมศิลปากรทำการสำรวจเพื่อเตรียมบูรณะเป็นโบราณสถานร่วมสมัยกับปราสาทเขาพระวิหาร
สุวรรณ วัฒนพิทักษ์พงศ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ชวนให้มาเที่ยวอุทยานฯ ในช่วงฤดูฝน เพื่อชมทะเลหมอกและทะเลป่ากว้างสุดลูกหูลูกตา ยิ่งถ้าวันไหนฝนตก หมอกจะยิ่งสวย ผืนป่าจะยิ่งเขียวสด
และถ้ามีเวลาพอ จะได้เดินป่าตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พืชเด่นที่พบในอุทยานฯ คือ กล้วยไม้เขาพระวิหาร หรือที่เรียกกันว่า “เอื้องระฟ้า” ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่น
ประตูสู่เพื่อนบ้าน
นักท่องเที่ยวที่จะขึ้นไปชมปราสาทเขาพระวิหารสามารถนำรถไปจอดใกล้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่รถรับจ้างจะจอดส่งผู้โดยสารบริเวณนี้เช่นกัน จากนั้นเดินเท้าถึงจุดออกหนังสือผ่านแดน ก่อนมุ่งหน้าสู่แผ่นดินประเทศเพื่อนบ้าน ที่เห็นขวางหน้าคือประตูรั้วเล็ก ๆ ที่ฝ่ายไทยและกัมพูชาถือกุญแจกันคนละดอก โดยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวพร้อมกันในเวลา ๐๘.๐๐ น. ส่วนตอนเย็นประตูขาขึ้นปิดสนิทตอน ๑๖.๐๐ น. ฝั่งขาลงเปิดรอถึง ๑๘.๐๐ น.
ทางอุทยานฯ จัดอบรมอาสาสมัคร “มัคคุเทศก์น้อย” เพื่อคอยแนะนำช่วยเหลือนักท่องเที่ยวตลอดการเดินทาง คณะเราได้ไกด์ท้องถิ่นวัยมัธยมร่วมคณะมาหนึ่งคนด้วย
ทางเดินสู่ปราสาทเขาพระวิหารเป็นบันไดหิน ทอดตรงเป็นระยะทางราว ๙๐๐ เมตรในแนวเหนือ-ใต้ มีลานหินขนาดใหญ่ระหว่างทาง ๔ จุด เรียกว่า ลานนาคราช แต่ละลานไล่ระดับไปตามไหล่เขา เส้นทางนี้ทอดยาวสู่ศูนย์กลางของปราสาทซึ่งอยู่บนพื้นที่สูงสุดปลายชะง่อนเขา
ก่อนจะถึงลานนาคราชแต่ละจุด จะมีราวบันไดลักษณะเป็นลำตัวพญานาค ด้วยเหตุที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกือบพันปี เกล็ดลายจึงถูกกร่อนจนเลือนจาง ปัจจุบันรูปพรรณสัณฐานของพญานาคหัวบันไดจึงออกไปทางเลี่ยนโล่ง แต่ยังเหลือให้เห็นอย่างโดดเด่นว่าเป็นนาคเจ็ดเศียร

ตลอดทางเดินขึ้นเขาพระวิหาร บางช่วงสูงชัน บันไดชำรุด แต่ไม่ถึงกับลำบากจนเกินความพยายามของผู้สูงวัยและครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ถ้าเหนื่อยก็พัก แต่ขอแนะนำว่าไม่ต้องรีบ ค่อย ๆ เดิน ค่อย ๆ ชมสถาปัตยกรรมขอมที่มีให้เห็นอยู่เป็นระยะ ๆ ระหว่างทาง ย่างกรายสู่โคปุระซึ่งหมายถึงซุ้มประตู ชั้นที่ ๑ เป็นโคปุระโถงรูปกากบาท สร้างเป็นศาลาจัตุรมุขไม่มีผนัง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม เสาเป็นหินสี่เหลี่ยมวางซ้อนกัน จำหลักลายกระจังสลับลายดอกมณฑา กลีบบัวซ้อนกันเป็นชั้น และลายประจำยามก้ามปู โคปุระนี้ไม่ถึงกับใหญ่โตชวนระทึกใจ แต่ถือเป็นโอกาสให้ได้พักเหนื่อย หลักจากปีนบันไดมาได้ระยะหนึ่ง
โคปุระชั้นที่ ๒ มีขนาดใหญ่และทึบกว่าชั้นแรก วางตัวเป็นรูปกากบาท มีมุขทั้งสี่ทิศ โคปุระนี้เริ่มมีหน้าบันและทับหลังให้ได้ชม หน้าบันแกะสลักเป็นภาพการกวนเกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนม สันนิษฐานว่าสัมพันธ์กับพิธีอินทราภิเษกของกษัตริย์ขอม ริมทางด้านตะวันออกมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่า บาราย
โคปุระชั้นที่ ๓ เป็นโคปุระหลังใหญ่และสมบูรณ์ที่สุด ถือเป็นมหามณเฑียรซึ่งเป็นสถานที่ประทับของกษัตริย์ การจัดวางอาคารดูมีรั้วรอบขอบชิด ประกอบด้วยอาคาร ๕ หลังคือ กลุ่มพระมหามณเฑียรกลาง ทรงกากบาท มีมุขทั้งสี่ทิศ ห้องใหญ่ อาคารเฉลียงทั้งด้านขวาและด้านซ้าย และมณเฑียรขวาง

ไม่ทันเหนื่อยจัดก็ถึงโคปุระชั้นที่ ๔ ที่เรียกว่า มหาปราสาท ถือเป็นจุดสูงสุด และจัดเป็นพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ ประกอบด้วยอาคารซึ่งเป็นโคปุระ ระเบียงคด บรรณาลัย และปรางค์ประธานที่ประดิษฐานเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ ประตูหลังทั้งสองข้างของห้องใหญ่ในกลุ่มอาคาร มีรอยจารึกอักษรขอมปรากฏอยู่อย่างชัดเจน สันนิษฐานกันว่าอาคารด้านตะวันออกอาจเป็นที่อยู่ของนักฟ้อนรำประจำองค์ปราสาท ส่วนอาคารด้านตะวันตกเป็นที่สำหรับศาสนิกชนมาอาบน้ำมนต์ เพราะตามมุขทั้งสี่ของห้องตรงกลางมีลักษณะคล้ายอ่างน้ำ

“รอยร้าว” กับเด็กขายรูปและช่องตาเฒ่า
ชีวิตชีวาของปราสาทเขาพระวิหารคือแผงขายของตลอดแนวทางเดิน สินค้ามีหลากหลายเท่าที่พึงจะหาได้ตามตลาดชายแดน ส่วนที่เป็นเซลส์ขายตรงวิ่งกันเป็นพรวนเข้าประชิดตัวนักท่องเที่ยวคือเจ้าตัวเล็กตัวน้อยทายาทสงครามเชื้อสายกัมพูชา
“ซื้อโปสต์การ์ดมั้ยครับ สิบบาท...สิบบาท” นักท่องเที่ยวสะพายกล้องเหลียวดูแบบไม่รู้จะสงสารหรือรำคาญดี ความสัมพันธ์ที่ปนเปทั้งความสงสาร รำคาญ ไปจนถึงระวังและระแวง ระหว่างเรากับเจ้าหนูเลือดกัมพูชา เหมือนจะสะท้อนความไม่ราบรื่นพอ ๆ กันในความสัมพันธ์ของสองชาติระหว่างไทยกับกัมพูชา

เสาธงชาติไทย--ร่องรอยประวัติศาสตร์ที่ผามออีแดง ซึ่งฝ่ายไทยอัญเชิญมาจากผาเป้ยตาดี” ยอดเขาพระวิหาร เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๐๕ หลังศาลโลกพิพากษาให้ปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา กลายเป็นสิ่งเตือนใจถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า เป็นการเสียดินแดนครั้งสุดท้ายของไทย หลังแพ้คดี แม้กัมพูชาจะได้ปราสาทเขาพระวิหารไปครอง แต่ทางเดินขึ้นสู่ปราสาทที่สะดวกสบายยังอยู่ฝั่งไทย ทางฝั่งเขมรก็มีทางขึ้นเหมือนกัน แต่แสนยากลำบาก เป็นช่องเขาที่ทั้งแคบและชัน เรียกกันว่า ช่องบันไดหัก
หลังกรณีพิพาทเขาพระวิหารเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาก็มีบางช่วงที่ “หวาน” จูงมือกันไปเปิดเขาพระวิหารให้การท่องเที่ยวเบิกบาน ตั้งแต่ครั้งละไม่กี่เดือน จนถึงเป็นปีๆ แต่ความสัมพันธ์อันดีเป็นต้องสะดุดบ่อยครั้งด้วยสาเหตุหลายประการ บางครั้งก็เป็นปัญหาการเมืองภายในของกัมพูชาที่ส่งผลให้ประตูขึ้นเขาพระวิหารมีอันต้องปิดไป ก่อนจะเปิดใหม่เมื่อมีเหตุปัจจัยเอื้ออำนวย กลางปี ๒๕๔๘ สถานการณ์ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาเริ่มคลี่คลาย โดยฝ่ายความมั่นคงของทั้งสองชาติช่วยกันผลักดันให้เปิด “ช่องตาเฒ่า” เป็นจุดผ่านแดนถาวร คล้ายว่าจะเป็นการเปิดประตูเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกันเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งทาง
แต่ที่วิจารณ์กันมากคือ เส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมไทยผ่านช่องตาเฒ่าเพื่อเข้าสู่ย่านการค้าของกัมพูชา ซึ่งมีกระแสข่าวว่าทางฝั่งกัมพูชาเตรียมสร้างโรงแรมระดับห้าดาว บ่อนกาสิโน กระเช้าไฟฟ้าจากยอดเขาพนมฉัตรสู่เขาพระวิหาร เส้นทางเดียวกันนี้ยังเป็นเส้นทางนำนักท่องเที่ยวสู่เขาพระวิหาร โดยผ่านทาง จ. เสียมเรียบของกัมพูชา ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทางขึ้นจากฝั่งไทยเพียงประตูเดียวอีกต่อไป
คำถามตามมายาวเหยียด ประโยชน์แท้จริงตกแก่ชาติใด ใครบางคนมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ จะเป็นการส่งเสริมคนไทยให้หมกมุ่นการพนันหรือไม่
...ถึงวันนี้ ประเด็นเปิดหรือไม่เปิดช่องตาเฒ่า ยังไม่มีข้อสรุป
“บันไดไม้อันนี้สร้างเตรียมให้อดีตนายกฯ ที่มีกำหนดจะมาดูพื้นที่เมื่อเดือนกันยายน แต่พอดีท่านโดนไล่ออกไปก่อนครับ” เสียงน้องมัคคุเทศก์น้อย (ที่ฟันธงตรงประเด็น จน คมช. น่าชวนไปร่วมทีมโฆษก) ชี้ชวนให้ชมบันไดที่แม้ตอนนี้สภาพไม่เต็มร้อย แต่ก็เป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่สะท้อนทั้งการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นาทีนี้---ทัศนวิสัยทางการเมืองในพื้นที่ยังมืดมัวเหมือนมีหมอก ได้แต่หวังว่า ถึงวันที่ตีพิมพ์ข้อเขียนนี้ ประตูเล็ก ๆ บานนั้นจะยังเปิดให้ผู้คนได้ไปมาหาสู่ และเที่ยวชมปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งถือเป็น “มรดกโลก” โดยพฤตินัย แม้ยังไม่ถูกขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกก็ตาม