สวัสดีค่ะ

ขอทักทายครั้งแรกด้วย เรื่องราวยอดนิยม ที่เป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจกันในขณะนี้ และยังไม่รู้เลยว่าผลลัพธ์ของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร พอดีผู้เขียนผ่านไปเห็นบทความเรื่องนี้เข้า เลยอยากให้ทุกคนได้อ่านกัน ขออนุญาต เจ้าของบทความและภาพประกอบเหล่านี้ที่นำมาเสนอ ไว้ ณ ที่นี้ และขอขอบคุณท่านเจ้าของบทความนี้ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ปราสาทเขาพระวิหาร หนึ่งในแดนปราสาทขอม
เรื่อง: รัชดา ธราภาค / ภาพ: ฝ่ายภาพสารคดี


แม้จังหวัดศรีสะเกษมีคำขวัญจังหวัดขึ้นต้นด้วยวลี “แดนปราสาทขอม” เพื่อแสดงจุดเด่นของจังหวัดว่ามีปราสาทขอมโบราณจำนวนหลายสิบแห่ง แต่ต้องยอมรับว่าปราสาทที่นักท่องเที่ยวอยากไปเยือนกันมากที่สุดคือ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ที่ตั้งเด่นบนแผ่นดินกัมพูชา ส่วนบันไดทางขึ้นอยู่ในเขตแดนไทย ด้าน อ. กันทรลักษ์
ช่วงเวลาที่ผ่านมา สถานการณ์การท่องเที่ยวของปราสาทเขาพระวิหารอายุเกือบพันปีแห่งนี้คือ เปิด ๆ ปิด ๆ อยู่ตลอดมา ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของไทยกับกัมพูชา ถ้าจะมองว่าไม่ส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวก็คงใช่ แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับยิ่งเพิ่มคุณค่าของโบราณสถาน ก็เพราะหาโอกาสเข้าชมได้ยากนี่เอง
ด้วยเหตุนี้กระแสข่าวเมื่อปลายปีว่าฝ่ายกัมพูชายอมเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วไปและประชาชนจากฝั่งไทย (อีกครั้ง) จึงเป็นข่าวดี ที่ทำให้ “ชาว กทม.” อย่างเรารีบจัดกระเป๋า มุ่งหน้าสู่ จ. ศรีสะเกษ แดนอีสาน ระยะทางร่วม ๖๐๐ กม. เพื่อเยี่ยมเยือนปราสาทเขาพระวิหารมรดกทางอารยธรรมสำคัญที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ทรงฝากผลงานไว้


อาบเมฆ ชมทะเลป่า ที่ผามออีแดง

โอ้เอ้เที่ยวชมปราสาทหินทั้งเล็กทั้งใหญ่อยู่ ๒ วัน ในที่สุดชาวคณะก็มาถึงเขต อ. กันทรลักษ์ในตอนเย็น เราตัดสินใจขับรถต่อไปอีกไม่ไกลเพื่อไปอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เราจะพักกันที่นั่น ทางอุทยานฯ เตรียมสถานที่ไว้ให้นักท่องเที่ยวกางเต็นท์สัมผัสธรรมชาติได้พร้อมกันทีเดียว ๒๐๐-๓๐๐ หลัง อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารกินพื้นที่ครอบคลุมทางเดินขึ้นปราสาทเขาพระวิหาร จึงสะดวกมากสำหรับผู้ที่พักค้างคืนในอุทยานฯ เพราะเมื่อตื่นเช้าสูดอากาศสดชื่นแล้ว ยังมีเวลาเที่ยวชมธรรมชาติในอุทยานฯ เป็นการวอร์มร่างกายก่อนไปชมปราสาทเขาพระวิหาร อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารมีเนื้อที่กว่า ๘ หมื่นไร่ ครอบคลุมพื้นที่ใน อ. กันทรลักษ์ จ. ศรีสะเกษ กับ กิ่งอำเภอน้ำขุ่น และ อ. น้ำยืน จ. อุบลราชธานี มีผามออีแดงเป็นจุดชมทัศนียภาพผืนป่าใหญ่ที่เชื่อมไทยกับกัมพูชาอย่างไร้รอยต่อ


นอกจากพืชพันธุ์และสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ (ยืนยันด้วยเสียงร้องของชะนีป่าที่ดังราวกับใช้ไมโครโฟน) ในเขตอุทยานฯ ยังมีภาพสลักนูนต่ำรูปนางอัปสรา เชื่อกันว่าช่างคงทำพิธีเซ่นไหว้ หรือไม่ก็อาจซ้อมมือก่อนเริ่มแกะสลักจริงที่เขาพระวิหาร ปัจจุบันทำรั้วกั้นไว้ นัยว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกเข้าไปขูดขัดขอเลขขอหวย ในบริเวณเดียวกันยังมีภาพสลักลายเส้นรูปพระนารายณ์อวตาร สันนิษฐานว่าอายุ ๑,๕๐๐ ปี ซึ่งน่าจะเก่าแก่ที่สุดในไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงบรรจุเป็นแหล่งท่องเที่ยว “อันซีน”
ถัดไปไม่ไกลเป็นสถูปคู่หินทราย คนย่านนั้นเรียก “พระธาตุ” รูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ยอดกลมมน ดูแล้วคล้ายหมุดปักบอร์ด ด้านในเป็นโพรงบรรจุสิ่งของซึ่งถูกขุดค้นไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ะยะแรก ๆ
ที่นักวิชาการชาวฝรั่งเศสมาสำรวจ ส่วน “สระตราว” หรือ “ห้วยตราว" คือทำนบโบราณ เป็นธารน้ำอยู่ในบริเวณลานหินเชิงเขาพระวิหาร ไหลลงสู่ที่ต่ำผ่านถ้ำใต้เพิงหินซึ่งเป็นที่ลุ่มกว้าง ตรงขอบมีแนวหินซ้อนเป็นเขื่อนเพื่อกั้นและบังคับน้ำให้ไหลไปตามแนวที่ต้องการ สันนิษฐานกันว่าตำแหน่งที่ลุ่มก็คือ “บาราย” ซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำของขอมนั่นเอง ล่าสุดทางกรมศิลปากรทำการสำรวจเพื่อเตรียมบูรณะเป็นโบราณสถานร่วมสมัยกับปราสาทเขาพระวิหาร
สุวรรณ วัฒนพิทักษ์พงศ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ชวนให้มาเที่ยวอุทยานฯ ในช่วงฤดูฝน เพื่อชมทะเลหมอกและทะเลป่ากว้างสุดลูกหูลูกตา ยิ่งถ้าวันไหนฝนตก หมอกจะยิ่งสวย ผืนป่าจะยิ่งเขียวสด
และถ้ามีเวลาพอ จะได้เดินป่าตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พืชเด่นที่พบในอุทยานฯ คือ กล้วยไม้เขาพระวิหาร หรือที่เรียกกันว่า “เอื้องระฟ้า” ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่น
ประตูสู่เพื่อนบ้าน
นักท่องเที่ยวที่จะขึ้นไปชมปราสาทเขาพระวิหารสามารถนำรถไปจอดใกล้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่รถรับจ้างจะจอดส่งผู้โดยสารบริเวณนี้เช่นกัน จากนั้นเดินเท้าถึงจุดออกหนังสือผ่านแดน ก่อนมุ่งหน้าสู่แผ่นดินประเทศเพื่อนบ้าน ที่เห็นขวางหน้าคือประตูรั้วเล็ก ๆ ที่ฝ่ายไทยและกัมพูชาถือกุญแจกันคนละดอก โดยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวพร้อมกันในเวลา ๐๘.๐๐ น. ส่วนตอนเย็นประตูขาขึ้นปิดสนิทตอน ๑๖.๐๐ น. ฝั่งขาลงเปิดรอถึง ๑๘.๐๐ น.
ทางอุทยานฯ จัดอบรมอาสาสมัคร “มัคคุเทศก์น้อย” เพื่อคอยแนะนำช่วยเหลือนักท่องเที่ยวตลอดการเดินทาง คณะเราได้ไกด์ท้องถิ่นวัยมัธยมร่วมคณะมาหนึ่งคนด้วย
ทางเดินสู่ปราสาทเขาพระวิหารเป็นบันไดหิน ทอดตรงเป็นระยะทางราว ๙๐๐ เมตรในแนวเหนือ-ใต้ มีลานหินขนาดใหญ่ระหว่างทาง ๔ จุด เรียกว่า ลานนาคราช แต่ละลานไล่ระดับไปตามไหล่เขา เส้นทางนี้ทอดยาวสู่ศูนย์กลางของปราสาทซึ่งอยู่บนพื้นที่สูงสุดปลายชะง่อนเขา
ก่อนจะถึงลานนาคราชแต่ละจุด จะมีราวบันไดลักษณะเป็นลำตัวพญานาค ด้วยเหตุที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกือบพันปี เกล็ดลายจึงถูกกร่อนจนเลือนจาง ปัจจุบันรูปพรรณสัณฐานของพญานาคหัวบันไดจึงออกไปทางเลี่ยนโล่ง แต่ยังเหลือให้เห็นอย่างโดดเด่นว่าเป็นนาคเจ็ดเศียร

ตลอดทางเดินขึ้นเขาพระวิหาร บางช่วงสูงชัน บันไดชำรุด แต่ไม่ถึงกับลำบากจนเกินความพยายามของผู้สูงวัยและครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ถ้าเหนื่อยก็พัก แต่ขอแนะนำว่าไม่ต้องรีบ ค่อย ๆ เดิน ค่อย ๆ ชมสถาปัตยกรรมขอมที่มีให้เห็นอยู่เป็นระยะ ๆ ระหว่างทาง ย่างกรายสู่โคปุระซึ่งหมายถึงซุ้มประตู ชั้นที่ ๑ เป็นโคปุระโถงรูปกากบาท สร้างเป็นศาลาจัตุรมุขไม่มีผนัง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม เสาเป็นหินสี่เหลี่ยมวางซ้อนกัน จำหลักลายกระจังสลับลายดอกมณฑา กลีบบัวซ้อนกันเป็นชั้น และลายประจำยามก้ามปู โคปุระนี้ไม่ถึงกับใหญ่โตชวนระทึกใจ แต่ถือเป็นโอกาสให้ได้พักเหนื่อย หลักจากปีนบันไดมาได้ระยะหนึ่ง
โคปุระชั้นที่ ๒ มีขนาดใหญ่และทึบกว่าชั้นแรก วางตัวเป็นรูปกากบาท มีมุขทั้งสี่ทิศ โคปุระนี้เริ่มมีหน้าบันและทับหลังให้ได้ชม หน้าบันแกะสลักเป็นภาพการกวนเกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนม สันนิษฐานว่าสัมพันธ์กับพิธีอินทราภิเษกของกษัตริย์ขอม ริมทางด้านตะวันออกมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่า บาราย
โคปุระชั้นที่ ๓ เป็นโคปุระหลังใหญ่และสมบูรณ์ที่สุด ถือเป็นมหามณเฑียรซึ่งเป็นสถานที่ประทับของกษัตริย์ การจัดวางอาคารดูมีรั้วรอบขอบชิด ประกอบด้วยอาคาร ๕ หลังคือ กลุ่มพระมหามณเฑียรกลาง ทรงกากบาท มีมุขทั้งสี่ทิศ ห้องใหญ่ อาคารเฉลียงทั้งด้านขวาและด้านซ้าย และมณเฑียรขวาง

ไม่ทันเหนื่อยจัดก็ถึงโคปุระชั้นที่ ๔ ที่เรียกว่า มหาปราสาท ถือเป็นจุดสูงสุด และจัดเป็นพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ ประกอบด้วยอาคารซึ่งเป็นโคปุระ ระเบียงคด บรรณาลัย และปรางค์ประธานที่ประดิษฐานเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ ประตูหลังทั้งสองข้างของห้องใหญ่ในกลุ่มอาคาร มีรอยจารึกอักษรขอมปรากฏอยู่อย่างชัดเจน สันนิษฐานกันว่าอาคารด้านตะวันออกอาจเป็นที่อยู่ของนักฟ้อนรำประจำองค์ปราสาท ส่วนอาคารด้านตะวันตกเป็นที่สำหรับศาสนิกชนมาอาบน้ำมนต์ เพราะตามมุขทั้งสี่ของห้องตรงกลางมีลักษณะคล้ายอ่างน้ำ

“รอยร้าว” กับเด็กขายรูปและช่องตาเฒ่า
ชีวิตชีวาของปราสาทเขาพระวิหารคือแผงขายของตลอดแนวทางเดิน สินค้ามีหลากหลายเท่าที่พึงจะหาได้ตามตลาดชายแดน ส่วนที่เป็นเซลส์ขายตรงวิ่งกันเป็นพรวนเข้าประชิดตัวนักท่องเที่ยวคือเจ้าตัวเล็กตัวน้อยทายาทสงครามเชื้อสายกัมพูชา
“ซื้อโปสต์การ์ดมั้ยครับ สิบบาท...สิบบาท” นักท่องเที่ยวสะพายกล้องเหลียวดูแบบไม่รู้จะสงสารหรือรำคาญดี ความสัมพันธ์ที่ปนเปทั้งความสงสาร รำคาญ ไปจนถึงระวังและระแวง ระหว่างเรากับเจ้าหนูเลือดกัมพูชา เหมือนจะสะท้อนความไม่ราบรื่นพอ ๆ กันในความสัมพันธ์ของสองชาติระหว่างไทยกับกัมพูชา

เสาธงชาติไทย--ร่องรอยประวัติศาสตร์ที่ผามออีแดง ซึ่งฝ่ายไทยอัญเชิญมาจากผาเป้ยตาดี” ยอดเขาพระวิหาร เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๐๕ หลังศาลโลกพิพากษาให้ปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา กลายเป็นสิ่งเตือนใจถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า เป็นการเสียดินแดนครั้งสุดท้ายของไทย หลังแพ้คดี แม้กัมพูชาจะได้ปราสาทเขาพระวิหารไปครอง แต่ทางเดินขึ้นสู่ปราสาทที่สะดวกสบายยังอยู่ฝั่งไทย ทางฝั่งเขมรก็มีทางขึ้นเหมือนกัน แต่แสนยากลำบาก เป็นช่องเขาที่ทั้งแคบและชัน เรียกกันว่า ช่องบันไดหัก
หลังกรณีพิพาทเขาพระวิหารเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาก็มีบางช่วงที่ “หวาน” จูงมือกันไปเปิดเขาพระวิหารให้การท่องเที่ยวเบิกบาน ตั้งแต่ครั้งละไม่กี่เดือน จนถึงเป็นปีๆ แต่ความสัมพันธ์อันดีเป็นต้องสะดุดบ่อยครั้งด้วยสาเหตุหลายประการ บางครั้งก็เป็นปัญหาการเมืองภายในของกัมพูชาที่ส่งผลให้ประตูขึ้นเขาพระวิหารมีอันต้องปิดไป ก่อนจะเปิดใหม่เมื่อมีเหตุปัจจัยเอื้ออำนวย กลางปี ๒๕๔๘ สถานการณ์ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาเริ่มคลี่คลาย โดยฝ่ายความมั่นคงของทั้งสองชาติช่วยกันผลักดันให้เปิด “ช่องตาเฒ่า” เป็นจุดผ่านแดนถาวร คล้ายว่าจะเป็นการเปิดประตูเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกันเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งทาง
แต่ที่วิจารณ์กันมากคือ เส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมไทยผ่านช่องตาเฒ่าเพื่อเข้าสู่ย่านการค้าของกัมพูชา ซึ่งมีกระแสข่าวว่าทางฝั่งกัมพูชาเตรียมสร้างโรงแรมระดับห้าดาว บ่อนกาสิโน กระเช้าไฟฟ้าจากยอดเขาพนมฉัตรสู่เขาพระวิหาร เส้นทางเดียวกันนี้ยังเป็นเส้นทางนำนักท่องเที่ยวสู่เขาพระวิหาร โดยผ่านทาง จ. เสียมเรียบของกัมพูชา ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทางขึ้นจากฝั่งไทยเพียงประตูเดียวอีกต่อไป
คำถามตามมายาวเหยียด ประโยชน์แท้จริงตกแก่ชาติใด ใครบางคนมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ จะเป็นการส่งเสริมคนไทยให้หมกมุ่นการพนันหรือไม่
...ถึงวันนี้ ประเด็นเปิดหรือไม่เปิดช่องตาเฒ่า ยังไม่มีข้อสรุป
“บันไดไม้อันนี้สร้างเตรียมให้อดีตนายกฯ ที่มีกำหนดจะมาดูพื้นที่เมื่อเดือนกันยายน แต่พอดีท่านโดนไล่ออกไปก่อนครับ” เสียงน้องมัคคุเทศก์น้อย (ที่ฟันธงตรงประเด็น จน คมช. น่าชวนไปร่วมทีมโฆษก) ชี้ชวนให้ชมบันไดที่แม้ตอนนี้สภาพไม่เต็มร้อย แต่ก็เป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่สะท้อนทั้งการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นาทีนี้---ทัศนวิสัยทางการเมืองในพื้นที่ยังมืดมัวเหมือนมีหมอก ได้แต่หวังว่า ถึงวันที่ตีพิมพ์ข้อเขียนนี้ ประตูเล็ก ๆ บานนั้นจะยังเปิดให้ผู้คนได้ไปมาหาสู่ และเที่ยวชมปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งถือเป็น “มรดกโลก” โดยพฤตินัย แม้ยังไม่ถูกขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกก็ตาม